หินอ่อน (Marble)              กฤษณา แก้วสวัสดิ์

                หินอ่อน เป็นหินแปรชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยแร่แคลไซต ์หรือโดโลไมต์เกือบทั้งหมด หรือ
หินอ่อนคือ หินปูนที่มีการตกผลึกใหม่ภายใต้อิทธิพลของความร้อนและแรงกดดัน ทำให้มี เนื้อแน่นขึ้น
แกร่งขึ้นมีการจับตัวประสานกันดีขึ้น เมื่อนำมาตัดและขัดมันจะมีความมันสวยงาม หินเหล่านี้ต่างจาก
หินต้นกำเนิดที่เม็ดแร่มีขนาดใหญ่กว่า ถ้าหินเดิมมีความบริสุทธิ์มากเนื้อหินอ่อนจะมี สีขาว แต่โดยทั่วไป
แล้วมีแร่อื่น ๆ เจือปนเสมอ ทำให้หินอ่อนมีสีต่าง ๆ กัน เช่น หินอ่อนสีดำเกิดจากอินทรีย์สาร หินอ่อน
สีเขียวเกิดจากแร่ไดออฟไซต์ฮอร์นแบรนด์    เซอร์เพนทีน หรือทัลก์ หินอ่อน สี น้ำตาลเกิดจากไลไมไนต์
หินอ่อนสีแดงเกิดจากเหล็กแดงเฮมาไทต์
                หินอ่อน ตาม พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2510 จัดเป็นหินประดับที่ถูกกำหนดให้เป็นแร่ชนิดหนึ่งที่พบอยู่
มากมายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ หินอ่อนที่ผลิตในประเทศส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อใช้ในการบริโภคภาย
ในประเทศ    โดยนำไปใช้ในงานก่อสร้างเพื่อการประดับตกแต่งภายในและภายนอกอาคารสำนักงาน
อาคารบ้านเรือน และที่พักอาศัยโดยเฉพาะคอนโดมีเนียม เนื่องจากหินอ่อนมีลวดลายที่ สวยงาม มีความ
แข็งแกร่งทนทานดูดเก็บความเย็นได้ดี ทำให้ห้องที่ปูด้วยหินอ่อนจะมีความรู้สึกเย็นสบายกว่าห้องทั่ว ๆ
ไป

แหล่งแร่
                แหล่งหินอ่อนพบกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ปัจจุบันมีผู้ได้รับประทานบัตรเหมืองหินอ่อน
รวมทั้งสิ้น 159 แปลง เป็นประทานบัตรเปิดการ 71 แปลง และประทานบัตรปิดการ 88 แปลง โดยมีแหล่ง
อยู่ในเขตพื้นที่ 19 จังหวัด ดังนี้
                ภาคเหนือ   ในเขตพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ลำปาง ลำพูน นครสวรรค์ เพชรบูรณ์
                                        สุโขทัย ตาก อุทัยธานี และอุตรดิตถ์
                ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
                ภาคกลาง  ในเขตพื้นที่จังหวัดชัยนาท กาญจนบุรี ลพบุรี เพชรบุรี ปราจีนบุรี
                                     ประจวบคีรีขันธ์ สระแก้ว และสระบุรี
                ภาคใต้        ในเขตพื้นที่จังหวัดยะลา
                แหล่งหินอ่อนที่มีคุณภาพดีมีไม่มากแห่ง    เช่น     แหล่งเขางอบ    จังหวัดสระบุรี    แหล่งอำเภอ
พรานกระต่าย    จังหวัดกำแพงเพชร แหล่งอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และแหล่งอำเภอเมือง
อำเภอมันนังสตา  จังหวัดยะลา

การผลิต
                ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา (2537-2541) การผลิตหินอ่อนบล็อคซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตหินแผ่น
สำเร็จรูปของโรงงานแปรรูปในประเทศทั้งหมดมีจำนวน   718,663   เมตริกตัน   มูลค่า 9  77.3   ล้านบาท
การผลิตหินอ่อนของประเทศในแต่ละปีมีปริมาณไม่แน่นอนเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นลดลงตลอด โดยในปี 2537
ลดลงเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1.4 จาก 88,398 เมตริกตัน มูลค่า 225 ล้านบาท เหลือ 87,163 เมตริกตัน มูลค่า 221.8
ล้านบาท ปี 2538 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 เป็น 96,992 เมตริกตัน มูลค่า 244.2 ล้านบาท ปี 2539 เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ถึงร้อยละ  274.2 เป็น 362,915 เมตริกตัน มูลค่า71 ล้านบาท แต่ต่อมาในปี 2540 การผลิตลดลงมากถึง ร้อยละ
65.2   เหลือ   126,473   เมตริกตัน   มูลค่า   177.1   ล้านบาท   และในปี 2541 ลดลงอีกร้อยละ 64.3 เหลือเพียง
45,120 เมตริกตันมูลค่า 63.2 ล้านบาท สาเหตุที่การผลิตลดลงเป็นเพราะเศรษฐกิจของประเทศยังอยู่ในภาวะ
ถดถอยต่อเนื่องจากปี 2540 และการใช้จ่ายอุปโภค บริโภคของประชาชนในประเทศลดลงมาก   เนื่องจาก
อำนาจซื้อลดลงทั้งการเลิกจ้างและระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้น      รวมทั้งการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมใน
ประเทศลดลงด้วย จนเป็นเหตุให้ อุตสาหกรรมการก่อสร้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงอย่างมาก
และส่งผลให้ความต้องการใช้หินอ่อนลดลงตามด้วย จากการที่ความต้องการใช้ในประเทศลดลง ในขณะที่
กำลังการผลิตเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง     จึงทำให้เกิดผลผลิตส่วนเกิน      ดังนั้นผู้ผลิตจำเป็นต้องปรับแผนการ
ดำเนินการโดยการลดการผลิตลงพร้อมกับทำการเร่งกระตุ้นการขายให้มากขึ้นเพื่อระบายสินค้าคงเหลือ
ออกไป
                ในปี 2541 จังหวัดที่มีการผลิตเป็นจำนวนมากที่สุด คือ จังหวัด กำแพงเพชร ผลิตได้ร้อยละ 43
ของปริมาณการผลิตรวมทั้งประเทศ รองลงมาได้แก่ จังหวัดสุโขทัย สระบุรี และลำปาง ผู้ผลิตรายใหญ่
ที่สำคัญได้แก่ หจก. หินอ่อนมิตรภาพ

การใช้
                หินอ่อนที่ผลิตในประเทศส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ ส่วนที่ส่งออกมีเพียง
เล็กน้อยในรูปของผลิตภัณฑ์หินอ่อนเป็นส่วนใหญ่   หินอ่อนประมาณร้อยละ  95 จะถูกนำไปใช้ในงาน
ก่อสร้างเพื่อปูพื้น บุผนัง ตามปูชนียสถานสำคัญ ๆ ตามอุโบสถของวัดวาอาราม ตลอดจนอาคารบ้านเรือน
ที่พักอาศัยและสำนักงาน ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 5 ถูกนำไปใช้เพื่อประดิษฐ์เป็นเฟอร์นิเจอร์ ของประดับ
ตกแต่งอาคารและของที่ระลึกต่าง ๆ เช่น โต๊ะอาหาร ที่วางของโต๊ะทำงาน แจกัน ที่เขี่ยบุหรี่ และอีกหลาย
อย่างตามความต้องการของผู้ใช้
            ความต้องการใช้หินอ่อนบล็อคในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2537-2541) มีปริมาณไม่ แน่นอนเปลี่ยนแปลง
ขึ้นลงตลอด โดยในปี 2537 ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.4 เป็น 101,563 เมตริกตัน มูลค่า 258.5 ล้านบาท
ปี 2538  ลดลงร้อยละ  21.5  เป็น 79,744  เมตริกตัน มูลค่า 200.2 ล้านบาท ปี 2539เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า เป็น
252,113 เมตริกตัน มูลค่า 202.6 ล้านบาท แต่ในปี 2540-2541 ซึ่งเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมการก่อสร้างและธุรกิจ
อสังหาริมทรัพย์ได้ชะลอตัวลงอย่างมากตามภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำและกำลังซื้อที่หดหายไป ทำให้ความต้อง
การใช้ในปี 2540 ลดลงมากเกือบสามเท่าเหลือเพียง 74,595 เมตริกตัน มูลค่า 104.4 ล้านบาท และในปี 2541
ลดลงอีกเหลือ34,538 เมตริกตัน มูลค่า 48.4 ล้านบาท

                         การผลิตและการใช้หินอ่อนในประเทศไทย
                                                                                                                                              ปริมาณ : เมตริกตัน
                                                                                                                                                  มูลค่า : ล้านบาท
ปี
การผลิต
การใช้
 
ปริมาณ
มูลค่า
ปริมาณ
มูลค่า
2537
87,163
221.8
101,563
258.5
2538
96,992
244.2
79,744
200.2
2539
362,915
271.0
252,113
202.6
2540
126,473
177.1
74,595
104.4
2541
45,120
63.2
34,538
48.4

การส่งออก
                การส่งออกหินอ่อนไปจำหน่ายต่างประเทศมีทั้งในรูปของหินอ่อนบล็อกและหินอ่อน
สำเร็จรูป ลูกค้าหรือผู้นำเข้าที่สำคัญที่สุดของไทย คือ ไต้หวัน ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ และสวิตเซอร์แลนด์
ปริมาณการส่งออกมีเพียงเล็กน้อยไม่มากนัก โดยในปี 2536 ส่งออกหินอ่อนบล็อค จำนวน 1,550 ตัน
ปี 2537 จำนวน 785 ตัน แต่ในช่วงปี 2538-2541 ไม่มีการส่งออก สำหรับหินอ่อนสำเร็จรูปในปี 2536
ส่งออก 82 ตัน และในช่วงปี 2537-2541 ไม่มีการส่งออกเช่นกัน

การนำเข้า
                การนำเข้าหินอ่อนจากต่างประเทศมีปริมาณไม่มากนัก เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุมการนำเข้า
ของกระทรวงพาณิชย์ ตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์     ฉบับที่   86    พ.ศ. 2521    และฉบับที่ 13
พ.ศ. 2525 โดยมีขอบเขตการควบคุมดังนี้ ให้หินอ่อนทราเวอทิน    (Travertine)  อีคอสซิน  (Ecaussine)
หินจำพวกที่ใช้ทำอนุสาวรีย์และหินก่อสร้างที่มีธาตุปูนผสม ซึ่งมีความแน่น 2.6 กิโลกรัมขึ้นไปต่อหนึ่ง
พันคิวบิคเซนติเมตรโดยไม่กดแน่น หินอลาบาสเตอร์ (Alabaster) รวมทั้งหินดังกล่าวที่ยังมิได้จัดทำมาก
ไปกว่าสกัดออกอย่างหยาบ ๆ ทำเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมอย่างหยาบ ๆ หรือเลื่อยให้เป็นสี่เหลี่ยมตามพิกัดอัตรา
อากรขาเข้าประเภทที่ 25.15 หินอ่อนสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์หินอ่อน ได้แก่หินอ่อนที่ตบแต่งแล้ว และ
ของที่ทำด้วยหินอ่อน ตามพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทที่ 68.02  ซึ่งการควบคุมนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อ
เป็นการส่งเสริมและคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศและเพื่อความมั่นคงและเสถียรภาพแห่ง
เศรษฐกิจของประเทศ การควบคุมดังกล่าวอาจมีการผ่อนผันให้มีการนำเข้าได้โดยการพิจารณาเป็น
กรณี ๆ ไปอย่างไรก็ตามก็ยังมีผู้ที่พยายามนำหินอ่อนสำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายแต่เป็น
จำนวนไม่มาก

การตลาดและราคา
                ตลาดหินอ่อนของประเทศในปัจจุบันเป็นตลาดของผู้ซื้อและมีการแข่งขันกันอย่าง รุนแรง เนื่องจากที่ผ่านมาการผลิตแต่ละปีมีปริมาณเกินความต้องการของตลาด และมีหินอ่อนค้างสต็อกอยู่ไม่
น้อยกว่าร้อยละ 20 ของที่ผลิตได้ในแต่ละปี กอร์ปกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ
อำนาจการซื้อลดลง ทำให้ความต้องการใช้หินอ่อนในตลาดมีปริมาณลดลงมากขึ้นอีก         จากการที่
อุปทานส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น ผู้ผลิตจำเป็นต้องระบายสินค้าออกจำหน่ายให้มากขึ้น โดยทำการ ปรับลด
ราคาหินอ่อนลง เพื่อเป็นการกระตุ้นการขายและทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องแบกภาระสินค้า คงเหลือ สำหรับการกำหนดราคาหินอ่อนแต่ละประเภทแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสีสัน      ลวดลาย    ขนาด  และ
ความพึงพอใจของผู้ซื้อเป็นสำคัญ หินอ่อนที่เป็นที่ต้องการของตลาดจะมีสีสันลวดลายสวยงาม     สีมี
ความสม่ำเสมอและไม่มีตำหนิ ความมันวาวของผิวดีและเนื้อแน่นแกร่ง น้ำไม่สามารถซึมผ่านได้
                กรมทรัพยากรธรณีได้ประกาศราคาหินอ่อนเพื่อเป็นเกณฑ์ประเมินในการเรียกเก็บค่าภาคหลวง
ในปัจจุบันอัตราเฉลี่ยลูกบาศก์เมตรละ 3,500 บาท สำหรับค่าภาคหลวงหินอ่อนเก็บในอัตราร้อยละ 4
ของราคาประกาศ เป็นเงิน 140 บาท และในปี 2541 กรมทรัพยากรธรณีเก็บค่าภาคหลวง หินอ่อนลดลง
เหลือประมาณ 3 ล้านบาท

เหมืองเปิดการและจำนวนคนงาน
                ในปี 2541 มีเหมืองหินอ่อนทั้งใหญ่และเล็กเปิดการจำนวน 71 แปลง 70 เหมือง เมื่อเทียบกับ
ปี 2540 ซึ่งมีเหมืองเปิดการทั้งสิ้นจำนวน 135 แปลง 94 เหมืองลดลง 64 แปลง 24 เหมือง หรือลดลงร้อย
ละ   47   และ   26   ตามลำดับ จ ากจำนวนเหมืองและกำลังการผลิตที่ลดลง ส่งผลให้การว่าจ้าง แรงงาน
ในเหมืองหินอ่อนมีปริมาณลดลง โดยในปี 2541 คนงานในเหมืองหินอ่อน (ไม่รวมโรงแต่ง) มีจำนวน
ทั้งสิ้น 1,413 คน ลดลงจากจำนวน 1,998 คน ในปี 2540 หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 29

ปัญหาและอุปสรรค
                ปัจจุบันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหินอ่อนประสบปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ
ดังนี้
                1. ปัญหาแหล่งหิน เนื่องจากแหล่งหินคุณภาพดีทั้งสีและปริมาณในประเทศมีอยู่จำกัดและ
มีปริมาณน้อยไม่สามารถตอบสนองความต้องการของโครงการใหญ่ ๆ ได้
                2. ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูง เพราะ เครื่องจักร
และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำเหมืองและโรงงานตัดหินแผ่นสำเร็จรูป ส่วนใหญ่ต้องสั่งซื้อ
จากต่างประเทศ และเสียภาษีนำเข้าในอัตราที่ค่อนข้างสูงประมาณร้อยละ 20-30 ของต้นทุน การผลิต
ซึ่งส่วนนี้จะเป็นการเพิ่มภาระทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและในอนาคตเมื่อประเทศไทยเปิดตลาดเสรีในการ
นำเข้าหินอ่อนตามพันธะกรณีของ WTO และ AFTA แล้ว จะเกิดภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น เนื่องจาก
หินอ่อนที่นำเข้าจากประเทศจีน    ไต้หวัน   และเวียดนาม มีราคาต่ำกว่าประเทศไทยมาก อันเป็นการ
สร้างปัญหาเพิ่มขึ้นให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ สำหรับเรื่องนี้สภาการเหมืองแร่ สมาคมหินอ่อนและแกรนิต
ไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ขอความอนุเคราะห์จากภาครัฐโดยขอให้กระทรวงการคลัง
พิจารณาทบทวนการขอลดภาษีวัตถุดิบ อากรขาเข้าวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้ในการผลิต เพื่อให้ผลิตภัณฑ์
หินอ่อนและหินแกรนิตมีต้นทุนที่ต่ำลงสามารถแข่งขันด้านราคากับตลาดต่างประเทศได้ และเป็นการ
เตรียมการก่อนเปิดเสรีทางการค้าในอนาคตต่อไป
                3. ปัญหาทางการเงิน เนื่องจากอุตสาหกรรมทั้งระบบได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทาง
เศรษฐกิจที่ตกต่ำและอำนาจซื้อลดลง เป็นผลให้ประสบปัญหาทางธุรกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรม
หินอ่อนส่วนใหญ่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ขาดเงินทุน หมุนเวียนในการดำเนินการ
จนผู้ประกอบธุรกิจหลายรายจำต้องปิดกิจการไป หรือบางรายต้องลด การผลิตลง
                4. ปัญหาการตลาด เนื่องจากความต้องการใช้หินอ่อนในประเทศลดลงตามการหดตัวของภาค
อุตสาหกรรมก่อสร้างและธุรกิจอสังหสริมทรัพย์และกำลังซื้อที่หดหายไป ทำให้ปริมาณ หินอ่อนที่ผลิต
ได้เกินความต้องการของตลาด      ซึ่งอุปทานส่วนเกินนี้เป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องเร่งระบายสินค้า
โดยทำการปรับลดราคาหินอ่อนลง เพื่อกระตุ้นการขายเพิ่มขึ้น อันเป็นผลให้เกิดการ แข่งขันอย่างรุนแรง

แนวโน้ม
                ในปัจจุบันแนวโน้มอุตสาหกรรมหินอ่อนยังไม่แจ่มใส เนื่องจากการเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงตาม ซึ่งในส่วนนี้ย่อมมีผลกระทบต่อการผลิตและการใช้หินอ่อนในประเทศด้วย โดยคาดว่าการผลิตและการใช้
หินอ่อนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จะอยู่ในระดับค่อนข้างคงที่หรือลดลง ดังนั้นผู้ประกอบการหินอ่อนคงต้อง
ปรับแผนการดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยลดขนาดการผลิตลงหรือหยุดการ
ผลิตเป็นการชั่วคราวและจำหน่ายหินอ่อนเฉพาะที่ได้ผลิตสำรองไว้ในสต็อกไปพลางก่อนจนกว่าเศรษฐกิจจะ
ดีขึ้นหรือจนกว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี จึงจะกระเตื้องขึ้น